เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล ดินแดนของนักโทษการเมืองในอดีต


          เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล ... ดินแดนของนักโทษการเมืองในอดีต ที่เล่าขานกันว่าเป็นนรกกลางทะเลอันดามัน ทว่าปัจจุบันกลับกลายเป็นสวรรค์ของผู้รักการเดินทางไปเสียแล้ว เหตุเพราะมีทิวทัศน์ที่งดงาม
ผืนน้ำใสสีมรกต ทรัพยากรใต้ท้องทะเลก็ยังคงอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีประติมากรรมธรรมชาติที่ "เกาะไข่" และหาดหินบน "เกาะหินงาม" หรือ "เกาะอาดัง เกาะราวี" ที่มีหาดทรายสีขาวนุ่มเนียนละเอียดละออ 

รวมไปถึงอีกหลายเกาะ หลายอ่าวที่แสนงดงาม จนชาวมลายูเรียกชื่อหมู่เกาะแห่งนี้ว่า "ตะโละเตรา" ในภาษามลายูแปลว่า มีอ่าวมาก เพราะมีเกาะต่าง ๆ อยู่ถึง 50 เกาะ ก่อนจะเพี้ยนมาเป็นคำว่า "ตะรุเตา"




 ซึ่งต่อมาได้รับการประกาศให้เป็น "อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา" เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2517 ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ภูมิทัศน์ที่งดงาม ทำให้ในปี พ.ศ. 2525 ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves) 

          นอกจากสภาพธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์แล้ว เกาะตะรุเตายังมีประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ โดยในปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลมีนโยบายให้กรมราชทัณฑ์จัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งนิคมฝึกอาชีพ และเป็นสถานที่กักกันนักโทษ เกาะตะรุเตาซึ่งอยู่ห่างไกลจากฝั่ง เต็มไปด้วยปัจจัยทางธรรมชาติที่เป็นอุปสรรคต่อการหลบหนี ก็ได้ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่จัดตั้งนิคมดังกล่าว มีการจัดสร้างอาคารที่ทำการ บ้านพักของผู้คุม เรือนนอนนักโทษ และโรงฝึกอาชีพขึ้นที่อ่าวตะโละวาว และอ่าวตะโละอุดัง  






     ในปี พ.ศ.2481 นักโทษชุดแรกจำนวน 500 คนก็ได้เดินทางมายังตะรุเตา และทยอยเข้ามาอีกเรื่อย ๆ จนมีนักโทษเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 3,000 คน และในช่วงปี พ.ศ.2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมือง 70 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักโทษจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชและกบฏนายสิบ มากักบริเวณอยู่ที่อ่าวตะโละอุดัง จากนั้นในปี พ.ศ.2484 สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อุบัติขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา เนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร และยารักษาโรค นักโทษเจ็บป่วยล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ผู้คุมและนักโทษจำนวนหนึ่งจึงได้ออกปล้นสะดมเรือสินค้าที่ผ่านไปมาในน่านน้ำบริเวณช่องแคบมะละกา จนทำให้เรือสินค้าไม่กล้าล่องเรือผ่านมาในบริเวณนั้น 

          ต่อมาในปี พ.ศ.2489 รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองมลายูอยู่ในขณะนั้น ได้ขออนุญาตจากรัฐบาลไทยในการส่งกองกำลังเข้าปราบปรามโจรสลัดตะรุเตาจนสำเร็จ ต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ประกาศยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา และหลังจากนั้นเกาะตะรุเตาก็ถูกทิ้งร้างเป็นเวลา 26 ปี จนกระทั่งได้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติตะรุเตาขึ้น และกลับมาเลืองชื่อลือนามเรื่องความงดงามอีกครั้งหนึ่ง






ที่พักอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
          ในเขตอุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยวบนเกาะตะรุเตาและเกาะอาดัง สอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทรศัพท์ 0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th, ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตา บริเวณท่าเรือปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล 91110 โทรศัพท์ 0 7478 3485, 0 7478 3597, 0 7478 1285 และหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่ ต.ต.1 (อ่าวพันเตมะละกา) บนเกาะตะรุเตา โทรศัพท์ 0 7472 9002-3


ที่มา : travel.kapook.com,อสท. ททท. 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พาชม "เกาะรียูเนียน" (Reunion Island) ประเทศฝรั่งเศส

หลีกหนีความวุ่นวาย ไปพักที่ "เกาะพยาม" กันดีกว่า

พาเที่ยว "บึงเดือด บอยลิ่งเลค" (Boiling Lake), เครือรัฐโดมินิกา